งานประเพณีวันชิงเปรต หรือสารทไทย
เป็นงานประเพณีของชาวพุทธในจังหวัดปัตตานี ที่ทำกันในเดือน 10 ของจันทรคติทุกปี ปีละ 2 ครั้ง แต่ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง จะมีงาน 3 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะเรียกวันแตกต่างกันไป เช่น ถ้าจัดครั้งแรกเรียกวันรับเปรตวันส่งเปรต เป็นประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่เรียกว่า “บุพเปตพลี”
ประเพณีทำบุญเดือนสิบเกิดจากความเชื่อว่า บรรพบุรุษของตนที่ล่วงลับไปแล้วบางพวกก็ไปสู่ที่ชอบ บางพวกไปสู่ที่ชั่วได้รับทุกข์ทรมานต่าง ๆ นานา และได้รับความอดอยากอย่างแสนสาหัส ผู้มีบาปกรรมต้องไปทนทุกข์ทรมานเป็นเปรตอยู่ในอบายภูมิ พญายมบาลผู้ทำหน้าที่ลงทัณฑ์ในยมโลก จะได้ปลดปล่อยเปรตเหล่านี้ให้มาเยือนโลก เยี่ยมลูกหลาน พร้อมทั้งรับส่วนกุศลที่ลูกหลานอุทิศให้ โดยกำหนดทำปีละ 2 ครั้ง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ เป็นวันรับตายายหรือรับเปรต ครั้งที่ 2 ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ เป็นวันส่งตายายหรือส่งเปรต
ก่อนวันทำบุญชาวบ้านจะเตรียมอาหารและขนม เดือนสิบ ซึ่งเป็นขนมที่ทำขึ้นในการทำบุญเดือนสิบโดยเฉพาะ สำหรับชาวปัตตานีอาจจะแตกต่างจากจังหวัดอื่นบ้าง แต่ที่สำคัญซึ่งขาดไม่ได้ คือ ขนมเจาะหู กับข้าวต้มห่อด้วยใบกะพ้อเป็นหลัก นอกนั้นจะใช้ขนมอื่นก็ได้ เช่น ขนมลา ขนมเทียน เมื่อถึงวันงานชาวบ้านก็จะเตรียมสำรับกับข้าว ขนม ข้าวต้ม ผลไม้ ไปถวายพระ แต่ที่เป็นพิเศษ คือ ข้าวของสำหรับเปรต นิยมนำอาหารมาห่อด้วยใบกะพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยมเหมือนกับห่อข้าวต้ม บางห่ออาจมีเหรียญหรือธนบัตร เสร็จแล้วร้อยเป็นพวง
การมาทำบุญที่วัด นอกจากการเลี้ยงพระซึ่งเป็นภารกิจปกติแล้ว ทุกคนจะนำอาหารมารับประทานร่วมกัน และเป็นพิเศษคือนำขนม ข้าวต้ม มาแจกผู้สูงอายุที่นับถือ การตั้งอาหารให้เปรต นิยมตั้งบนร้านเปรตที่ทำไว้สูง มีเสาเดียวผู้นำอาหารไปวางปีนขึ้นทางบันได เมื่อจะชิงเปรตก็เอาบันไดที่พาดออก ผู้ที่จะปีนร้านเปรตก็จะแต่งตัวเป็นเปรต ซึ่งต้องใช้ความพยายามมาก เพราะเสาตัวเดียวทาด้วยน้ำมันหรือของเหลวที่ลื่นเป็นที่สนุกสนาน เชื่อว่าถ้าได้นำเปลือกหรือใบกะพ้อที่แกะเอาอาหารที่ห่อออกหมดแล้วไปแขวนที่ต้นไม้ผลจะทำให้ออกดอกผลดก บางแห่งนอกจากจะตั้งร้านเปรตในวัดแล้วยังทำนอกวัดด้วยเพื่อให้เปรตบางจำพวกที่บาปหนาที่ไม่สามารถเข้าวัดได้มีโอกาสได้รับส่วนบุญอันนี้
หมายเหตุ
ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ ของประเทศไทย โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อซึ่งมาจากทาง
ศาสนาพราหมณ์โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเข้ามาในภายหลัง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบจะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำถึงแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปีแต่สำหรับวันที่ชาวใต้มักจะ นิยมทำบุญกันมากคือวันแรม 13-15 ค่ำ ประเพณีวันสารทเดือนสิบโดยในส่วนใหญ่แล้วจะตรงกับเดือนกันยายน
ԧõոҪ