ตอบว่า ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับไม่ประจำอยู่ ๒๐ พรรษา ในปฐมโพธิกาล ที่ใดๆ เป็นที่ผาสุก ก็เสด็จไปประทับอยู่ ณ ที่นั้นๆ นั่นแหละ คือ
๑. พรรษาแรก ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ
ป่าอิสิปตนะ ให้เหล่าพรหม ๑๘ โกฏิดื่มน้ำอมฤต ประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนะ มิคทายวัน กรุงพาราณสี.
๒. พรรษาที่ ๒ ประทับอยู่ ณ
พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์.
๓. พรรษาที่ ๓ ที่ ๔ ก็ประทับอยู่ ณ
พระเวฬุวันมหาวิหารนั้นเหมือนกัน.
๔. พรรษาที่ ๕ ประทับอยู่ ณ
กูฏาคารศาลาป่ามหาวันกรุงเวสาลี.
๕. พรรษาที่ ๖ ประทับอยู่ ณ
มกุลบรรพต.
๖. พรรษาที่ ๗ ประทับอยู่ ณ
ดาวดึงส์พิภพ.
๗. พรรษาที่ ๘ ประทับอยู่ ณ
เภสกฬาวัน สุงสุมารคิรี แคว้นภัคคะ.
๘. พรรษาที่ ๙ ประทับอยู่ ณ
กรุงโกสัมพี.
๙. พรรษาที่ ๑๐ ประทับอยู่ ณ
ราวป่าปาลิเลยยกะ.
๑๐. พรรษาที่ ๑๑ ประทับอยู่ ณ
บ้านพราหมณ์ ชื่อนาฬา.
๑๑. พรรษาที่ ๑๒ ประทับอยู่ ณ
เมืองเวรัญชา.
๑๒. พรรษาที่ ๑๓ ประทับอยู่ ณ
จาลิยบรรพต.
๑๓. พรรษาที่ ๑๔ ประทับอยู่ ณ
พระเชตวันมหาวิหาร.
๑๔. พรรษาที่ ๑๕ ประทับอยู่ ณ
กบิลพัศดุ์มหานคร.
๑๕. พรรษาที่ ๑๖ ทรงทรมานอาฬวกยักษ์ ให้สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ดื่มน้ำอมฤต ประทับอยู่ ณ
เมืองอาฬวี.
๑๖. พรรษาที่ ๑๗ ประทับอยู่ ณ
กรุงราชคฤห์.
๑๗. พรรษาที่ ๑๘ ประทับอยู่ ณ
จาลิยบรรพต.
๑๘. พรรษาที่ ๑๙ ก็ประทับอยู่ ณ
จาลิยบรรพตเหมือนกัน.
๑๙. พรรษาที่ ๒๐ ประทับอยู่ ณ
กรุงราชคฤห์นั่นเอง.
ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ไม่ประจำ ๒๐ พรรษาในปฐมโพธิกาล ที่ใดๆ เป็นที่ผาสุก ก็เสด็จไปประทับอยู่ ณ ที่นั้นๆ นั่นแล.
แต่นับตั้งแต่นั้นไป ก็ประทับอยู่เป็นประจำ ณ พระเชตวันมหาวิหารและบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี.
ก็เมื่อใด พระศาสดาเป็นพระพุทธเจ้า เสด็จจำพรรษาแรก ณ ป่าอิสิปตนะมิคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ออกพรรษา ปวารณาแล้ว เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา จำพรรษาไตรมาส ณ ที่นั้น ทรงทรมาณชฎิลสามพี่น้อง ทำภิกษุจำนวนหนึ่งพันรูปเป็นบริวาร แล้วเสด็จไปกรุงราชคฤห์กลางเดือนผุสสมาส ประทับอยู่ ณ ที่นั้นสองเดือน เมื่อนั้น เมื่อพระองค์เสด็จออกจากกรุงพาราณสี ก็กินเวลาเข้าไปห้าเดือน. ล่วงฤดูหนาวไปสิ้นทั้งฤดู นับแต่วันที่ท่านพระอุทายีเถระมาถึง ก็ล่วงไป ๗-๘ วัน.
ก็ท่านพระอุทายีเถระนั้น ในราวกลางเดือนผัคคุน [เดือน ๔] ก็ดำริว่า ฤดูเหมันต์ล่วงไปทั้งฤดู ฤดูวสันต์ก็มาถึงแล้ว เป็นสมัยควรที่พระตถาคตจะเสด็จไปกรุงกบิลพัศดุ์ได้ ท่านครั้นดำริอย่างนี้แล้วจึงกล่าวพรรณาการเสด็จไปด้วยคาถา ๖๐ คาถา เพื่อประโยชน์แก่องค์พระศาสดาจะเสด็จไปยังพระนครแห่งสกุล.
ครั้งนั้น พระศาสดาทรงสดับคำของท่าน มีพระพุทธประสงค์จะทรงทำการสงเคราะห์พระประยูรญาติ จึงแวดล้อมด้วยพระขีณาสพหมดด้วยกันสองหมื่นรูป คือที่เป็นกุลบุตรชาวอังคะและมคธะหมื่นรูป ที่เป็นกุลบุตรชาวกรุงกบิลพัสดุ์หมื่นรูป นับจากกรุงราชคฤห์ถึงกรุงกบิลพัศดุ์ ระยะทาง ๖๐ โยชน์ สองเดือนจึงถึง ได้ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ เพื่อให้พระญาติทั้งหลายถวายบังคม ณ กรุงกบิลพัสดุ์นั้น.
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพุทธวงศ์นี้.
ถามว่า คำของใคร.
ตอบว่า พระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว ไม่ทั่วไปแก่พระสาวกและพระ
ปัจเจกพุทธเจ้า.
ถามว่า ใครนำมาเล่า.
ตอบว่า อาจารย์นำสืบๆ กันมา.
จริงอยู่ พุทธวงศ์นี้อันพระเถระทั้งหลายเป็นต้นอย่างนี้ คือ พระสารีบุตรเถระ พระภัททชิ พระติสสะ พระสิคควะ พระโมคคัลลีบุตร พระสุทัตตะ พระธัมมิกะ พระทาสกะ พระโสณกะ พระเรวตะ นำสืบกันมาถึงสังคายนาครั้งที่ ๓ แม้ต่อแต่นั้นไป ศิษยานุศิษย์ของพระเถระเหล่านั้นนั่นแหละก็ช่วยกันนำมา เหตุนั้นจึงควรทราบว่า อาจารย์นำสืบๆ กันมาตราบเท่าปัจจุบันนี้ อย่างนี้ก่อน.
คาถานี้
พุทธวงศ์นี้ใครแสดง แสดงที่ไหน แสดงเพื่อ
ประโยชน์แก่ใคร แสดงเพื่ออะไร แสดงเมื่อไร คำของ
ใคร และใครนำสืบกันมา.
เป็นอันมีความตามที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว ด้วยกถามีประมาณเท่านี้.
นิทานกถา
พาหิรนิทาน บัดนี้จะพรรณาความแห่งพุทธวงศ์นั้นที่นำกันสืบมาอย่างนี้ ก็เพราะเหตุที่การพรรณาความนี้จำต้องแสดงนิทาน ๓ เหล่านี้คือ ทูเรนิทาน อวิทูเรนิทานและสันติเกนิทานแล้วพรรณนา จึงชื่อว่าเป็นอันพรรณนาด้วยดี และชื่อว่าผู้ที่ฟังนิทานนั้นรู้เรื่องได้ เพราะรู้มาตั้งแต่ต้นเหตุที่เกิด ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักแสดงนิทานเหล่านั้นแล้ว จึงจักพรรณนา.
ในนิทานนั้น พึงทราบปริเฉทตอนของนิทานเหล่านั้น เริ่มตั้งแต่ต้นก่อน การแสดงความโดยสังเขป ในนิทานนั้นดังนี้ ตั้งแต่พระมหาสัตว์บำเพ็ญบารมี แทบเบื้องบาทของพระทศพลพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร จนจุติจากอัตภาพเป็นพระเวสสันดรแล้ว บังเกิดในภพดุสิต. กถาที่เป็นไปเพียงเท่านั้น ชื่อว่าทูเรนิทาน.
ตั้งแต่จุติจากภพดุสิต จนเกิดพระสัพพัญญุตญาณ ที่โพธิมัณฑสถาน. กถาที่เป็นไปเพียงเท่านั้น ชื่อว่าอวิทูเรนิทาน.
ตั้งแต่ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ มหาโพธิมัณฑสถาน จนถึงเตียงเป็นที่ปรินิพพาน ในระหว่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ใดๆ ที่นั้นๆ เช่นว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร อารามของท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดี กรุงสาวัตถี ว่าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ และว่าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน กรุงเวสาลีดังนี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าสันติเกนิทาน.
การพรรณนาพาหิรนิทาน นิทานนอก ๓ นิทาน คือทูเรนิทาน อวิทูเรนิทานและสันติเกนิทาน โดยสังเขปนี่แล เป็นอันจบด้วยนิทานกถาเพียงเท่านี้. จบพาหิรนิทาน |
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33.2&i=1