พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา
หากข้าพเจ้าได้เคยประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินต่อคุณพระรัตนตรัยและผู้มีคุณทั้งหลาย
ขอพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ และผู้มีคุณทั้งหลายได้โปรดอดโทษให้แก่ข้าพเจ้า
ตั้งแต่บัดนี้ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพานด้วยเทอญ
พุทธอุบาสกในสมัยพุทธกาล
อุบาสก หมายถึง ชายผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย ประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ในสมัยพุทธกาลนั้นมีผู้นับถือพระพุทธศาสนา จำนวนมาก ท่านทั้งหลายมีความเคารพในพระรัตนตรัย เป็นอย่างยิ่ง เพราะได้ประจักษ์ชัดเจนในจิต ว่า พระพุทธเจ้ามีคุณอันยิ่งใหญ่ เลิศกว่าสัตว์ทั้งหลาย ทรงเป็นศาสดาเอก เป็นครูของเหล่าพรหม เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ทรงชี้ทางอันประเสริฐให้หมู่สัตว์ได้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ผู้ที่ปฏิบัติตามสัทธรรมย่อมมีสุคติ เป็นที่ไป และถ้ากุศลถึงพร้อมแก่การบรรลุธรรม บุคคลนั้นย่อมบรรลุธรรมนั้น พ้นจากการเวียนเกิด เวียนตาย ในสังสารวัฏฏ์ นี่คือพระคุณอันยิ่งใหญ่ ที่เหล่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายในเวลานั้นมองเห็น แต่ในกาลที่พระพุทธเจ้ายังมิได้ตรัสรู้ เหล่ามนุษย์ให้ความนับถือลัทธิต่างๆที่มีอยู่ในยุคนั้น แล้วแต่การสะสมกรรมของตน เมื่อพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก เหล่ามนุษย์ที่เคยมีอุปนิสัยสะสมกุศลไว้ในอดีต เมื่อได้รู้ถึงการบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ท่านเหล่านั้นล้วนประกาศตัวเป็น พุทธสาวกทั้งสิ้น ท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้ร่วมสร้างมหาทาน มหากุศลอันยิ่งใหญ่ อย่างชนิดที่เรียกว่าไม่มีใครอีกแล้วในโลกนี้ ที่จะได้มีโอกาสได้ด้วยการกระทำ ถวายแด่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ พุทธสาวกในสมัยนั้น มี่ส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความรุ่งเรืองของพระรัตนตรัย จนสืบทอดมาถึงคนรุ่นเรานี้
มหาอุบาสกที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องมีทั้งหมด 10 คน ผู้เป็นเลิศในด้านต่างๆ ดังนี้
1-2 ตปุสสะ-ภัลลิกะ
เอตทัคคะในฝ่ายผู้ถึงสรณะก่อน
เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ ๆ ณ ภายใต้ร่ม
พระศรีมหาโพธิ์แล้ว ประทับเสวยวิมุตติสุขในสถานที่ต่าง ๆ รวม ๗ แห่ง ๆ ละ ๗ วัน และในสัปดาห์ที่ ๗ อันเป็นสัปดาห์สุดท้าย พระพุทธองค์ประทับเสวยวิมุตติสุข ที่ภายใต้ร่มไม้เกตุ อันได้นามว่า “ราคายตนะ” นั้นขณะนั้น สมเด็จพระอมรินทราธิราช ทรงดำริว่า “พระผู้มีพระภาค ตั้งแต่ตรัสรู้แล้วนับได้ ๔๙ วันถึงวันนี้ พระองค์ยังมิได้เสวยพระกระยาหารและถ่ายพระบังคนเลย สมควรที่พระองค์จะเสวยพระกระยาหารและถ่ายพระบังคน” จึงนำผลสมออันเป็นทิพยโอสถมาจาก เทวโลก เข้าไปถวายพระพุทธองค์ทรงรับมาเสวยแล้วทำสรีรกิจลงพระบังคน แล้วท้าวสหัสนัยน์ ก็อยู่เฝ้าถวายการปฏิบัติพระพุทธองค์ด้วยกิจต่าง ๆ มีถวายน้ำบ้วนพระโอษฐ์ เป็นต้น
· เทววาจิกอุบาสก (ทะเววาจิกะอุบาสก)
ครั้งนั้น มีพ่อค้าพานิชสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ นำสินค้าบรรทุกกองเกวียนเดินทางมาจากอุกกละชนบทผ่านมาทางนั้น ด้วยอานุภาพแห่งเทวดา องค์หนึ่งซึ่งเคยเป็นญาติกับสองพ่อค้าในอดีตชาติ เห็นสองพ่อค้าแล้วคิดว่า “พ่อค้าทั้งสองนี้ พากันลุ่มหลงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏสิ้นกาลช้านาน ควรที่เราจะสงเคราะห์ให้ได้รับประโยชน์สุขอันอุดม” จึงบันดาลให้โคพาเกวียนไปผิดทางแล้วแสดงตนให้ปรากฏ กล่าวชี้แนะให้สองพ่อค้านำสัตตุก้อนสัตตุผง(ข้าวตัง) อันเป็นเสบียงทาง เข้าไปถวายพระผู้มีพระภาค สองพ่อค้าก็ปฏิบัติตามน้อมนำข้าวสัตตุก้อนสัตตุผลเข้าไปถวาย พบพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ภายใต้ร่มไม้เกตุ ประกอบด้วย ทวัตติงสมหาปุริสลักษณะ มีพระรัศมีรุ่งเรืองไม่เคยพบเห็นมาก่อน จึงคิดว่า “พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก ซึ่งนับว่าเป็นบุญลาภอันประเสริฐของพวกตนยิ่งนัก
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงทรงอนุเคราะห์รับบิณฑบาตไทยทาน เพื่อประโยชน์สุขแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ตลอดกาลนานเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า “บาตรของตถาคตได้หายไปก่อนวันตรัสรู้ ต้องรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาด้วยพระหัตถ์ หลังจากนั้นมายังมิได้เสวยกระยาหารเลย บัดนี้สองพานิชนำอาหารมาถวาย ตถาคตจะได้บาตรมาแต่ที่ไหน” เมื่อพระพุทธองค์ทรงดำริอย่างนั้น ทันใดนั้น ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ได้นำบาตรศิลาสีเขียวองค์ละใบ มาจากทิศทั้ง ๔ น้อมเข้าไปถวาย
· พระพุทธเจ้าประสานบาตร
พระผู้มีพระภาค ทรงดำริว่า “บรรพชิตรูปหนึ่งไม่ควรมีบาตรเกินกว่า หนึ่งใบ” จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง ๔ ใบนั้นประสานเข้าเป็นใบเดียวกันแล้วทรงรับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผลของสองพานิชด้วยบาตรนั้น เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว นายพานิชสองพี่น้องกราบทูลแสดงตนเป็น
อุบาสก ขอถึงพระพุทธกับพระธรรมเป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต เนื่องด้วยขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นในโลกอุบาสกทั้งสองจึงได้นามว่า “เทววาจิกอุบาสก” นับเป็นอุบาสกคู่แรกและคู่เดียวในโลก ผู้ถึงรัตนะสองประการ(พระพุทธเจ้า และพระธรรม) ก่อนที่อุบาสกทั้งสองจะกราบทูลลากลับไปนั้น ได้ทูลขอสิ่งอันเป็นปูชนียวัตถุ เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นที่สักการบูชายังบ้านเมืองของตนสืบไปพระพุทธองค์ ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นลูบพระเศียร พระเกษา ๘ เส้นติดพระหัตถ์ออกมา จึงประทานให้แก่สองพ่อค้านั้นตามประสงค์ พ่อค้าทั้งสองได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดา ในตำแหน่ง เอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้ถึงสรณะก่อน
นิพพานัง ปรมัง สุขขังนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง